ข้าว อาหารจานหลัก เป็นอาหารจานหลักของผู้คนในแถบทวีปเอเชียตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก แต่ทราบหรือไม่ว่าการเดินทางของผู้คน ได้ทำให้ข้าวต้องเดินทางไปด้วย จนทำให้วิถีการรับประทานของผู้คนในหลายพื้นที่ต้องเปลี่ยนไป แต่พวกเรานั้นมักไม่รู้ตัว ข้าว อาหารจานหลัก ของผู้คนในแถบทวีปเอเชีย แล้วทำไมข้าวจึงมีการรับประทานแตกต่างกันออกไป ? มาดูกัน หากใครเคยเดินทางไปท่องเที่ยวยังอินเดีย หรือเคยรับประทานอาหารอินเดีย น่าจะเคยเห็นหน้าตาของข้าวอินเดียว่าแข็งและร่วนเหมือนทราย ไม่มีความเหนียวเล็กน้อยเหมือนข้าวแถบภูมิภาคอาเซียน ซึ่งข้าวอินเดียนี่เองได้เริ่มต้นการเดินทางเมื่อชาวอินเดียเข้ามาติดต่อค้าขายกับประเทศในแถบอาเซียน เมื่อราวช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7 ขณะที่ข้าวในแถบอาเซียน แต่ดั้งเดิมข้าวของพวกเราเป็นลักษณะเมล็ดโต มีความเหนียว หรือกล่าวง่าย ๆ ว่า พวกเรานั้นรับประทานข้าวเหนียวนั่นเอง โดยปัจจุบันยังสามารถพบได้ตามยอดดอยที่ยังคงมีรับประทานกันอยู่ ซึ่งการเดินทางเข้ามาของชาวอินเดีย ได้ทำให้เกิดการผสมพันธุ์ข้าว จนมีลักษณะไม่ร่วนจนเกินไปและไม่เหนียวจนเกินไป ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าข้าวสวย ข้าวผสม หรือตามแต่ชื่อสายพันธุ์ในท้องที่นั้น ๆ โดยข้าวที่ถูกผสมเหล่านี้ได้แพร่กระจายไปทั่วเกือบครึ่งภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย ในเกาะสุมาตราและเกาะชวา, มาเลเซียฝั่งแหลมมลายู, ไทย บริเวณภาคใต้และภาคกลาง, กัมพูชา เกือบทั้งหมด ยกเว้นทางตอนเหนือกับชายแดนตะวันออกที่ติดเวียดนาม, พม่า บริเวณที่ติดดับอินเดียไล่ยาวมาจนถึงตอนกลางของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่ที่อิทธิพลของอินเดียเข้าไปไม่ถึงก็มีเช่นกัน ได้แก่ รัฐฉานประเทศพม่า, ดินแดนทั้งหมดของลาวและเวียดนาม, บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย, และบริเวณตอนเหนือกับภาคตะวันออกของกัมพูชา ทำให้พื้นที่เหล่านี้ยังคงรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักกันอยู่เหมือนเช่นดั้งเดิม […]